การตรวจสอบอาคาร
การตรวจสอบอาคาร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยในการใช้อาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบของอาคาร โดยผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกต ทำรายงาน ได้แก่ ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง ระบบบริการและอำนวยความสะดวก ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ทดสอบสมรรถนะระบบที่เกี่ยวข้องกับการหนีไฟ ตลอดจนการบริหารจัดการความปลอดภัย เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยในการใช้อาคาร
ประวัติความเป็นมาของการตรวจสอบอาคาร โดยที่มาตรา ๓๒ ทวิ (๓)แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี เพื่อทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการใช้อาคาร เพื่อขอใบรับรองการตรวจสอบอาคาร มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา ๔๖ ทวิ และ๖๕ ทวิ ถึงขั้นถูกสั่งปิดและห้ามใช้อาคารทั้งหมดหรือบางส่วนของอาคาร และต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยต้องระวางโทษปรับอีกวันละ 10,000บาท จนกว่าจะดำเนินการตรวจสอบและส่งรายงานต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วเสร็จ โดยให้มีผลบังคับใช้กับอาคาร 9 ประเภท ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ภายในระยะเวลา 2 ปี
ผู้ตรวจสอบอาคาร คือผู้ที่ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ตามที่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารกำหนด
1) มีหน้าที่เข้าตรวจสอบอาคาร โดยตรวจสอบเรื่องโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัยในการใช้อาคาร การดัดแปลงต่อเติม ระบบแจ้งเหตุเพลิงใหม้ ระบบดับเพลิง ป้ายทางออกฉุกเฉิน ทางหนีไฟ ระบบไฟฟ้า และแผนบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
2) เพื่อจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบอาคารให้กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ประกอบการ พิจารณาอนุญาตใช้อาคารนั้นๆ
ขอบเขตของผู้ตรวจสอบอาคาร
การตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ตามที่กำหนดและตามที่ต้องการได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตของผู้ตรวจสอบ ดังนี้
“ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกตด้วยสายตาพร้อมด้วยเครื่องมือพื้นฐานเท่านั้น จะไม่รวมถึงการทดสอบที่อาศัยเครื่องมือพิเศษเฉพาะ ทำรายงาน รวบรวมและสรุปผลการ วิเคราะห์ ทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้สอยอาคาร แล้วจัดทำรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่ทำการตรวจสอบนั้นให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อให้เจ้าของอาคารเสนอรายงานผลการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี
ผู้ตรวจสอบต้องตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
1.หลักเกณฑ์ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการก่อสร้างอาคารนั้น หรือ
2. มาตรฐานความปลอดภัยของสถาบันของทางราชการ สภาวิศวกร หรือสภาสถาปนิก
ทั้งนี้ ณ สถานที่ วัน และเวลาที่ทำการตรวจสอบตามที่ระบุในรายงานเท่านั้น”
การเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบอาคารได้นั้นจะต้องเป็นวิศวกรหรือสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพ ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบอาคารไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง จากนั้นจึงจะมีสิทธิ์สอบเพื่อวัดความรู้จากสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก จึงจะไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารกับกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ และต้องมีการทำประกันวิชาชีพจึงจะเป็นผู้ตรวจสอบอาคารได้โดยสมบูรณ์ [3]
ทั้งนี้ขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว ทั้งการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร การกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบอาคาร หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอน และหลักเกณฑ์การตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เกิดวิชาชีพผู้ตรวจสอบอาคารขึ้น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (14) ได้กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะ และลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบอาคาร ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งผู้ตรวจสอบอาคารจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายควบคุมอาคาร
ปัจจุบันคณะกรรมการควบคุมอาคาร ได้กำหนดให้ผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร จะต้องเข้ารับการอบรมโดยสถาบันซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการ โดยแบ่งการอบรมเป็นภาคทฤษฎีจำนวน 33 ชั่วโมง และภาคการปฏิบัติจำนวน 12 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 45 ชั่วโมง และจะต้องมีการทดสอบความรู้ความสามารถของผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารมีแนวความคิดให้สภาวิศวกร และ / หรือ สภาสถาปนิก เป็นหน่วยงานกลางที่ดำเนินการดูแลเรื่องการจัดสอบ และส่งผลการทดสอบให้กรมโยธาธิการเพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตผู้ตรวจสอบอาคารต่อไป ซึ่งสภาวิศวกรได้ทำหนังสือตอบรับยินดีจะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อดำเนินการดังกล่าว และล่าสุด กฎกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบอาคาร ติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบของอาคาร ซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (15) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมาย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงทั้งสองฉบับได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา
อาคารที่ต้องทำการตรวจสอบอาคาร อาคารที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารตาม พรบ.ควบคุมอาคาร มีทั้งหมด 9 ประเภท ได้แก่
- อาคารสูง (อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพท้นดาดฟ้า สำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของ ชั้นสูงสุด)
- อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้พื้นที่อาคารหรือส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่ อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่หนึ่งหมื่นตารางเมตรขึ้นไป)
- อาคาร ชุมชนคน (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อใช้ประโยชน์ในการ ชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่หนึ่งพันตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป)
- โรงมหรสพ (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม)
- โรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่แปดสิบห้องขึ้นไป
- อาคาร ชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำกรับหลายครอบ ครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
สำหรับอาคารชุด และอาคารอยู่อาศัยรวมที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจะได้รับการผ่อนผันการตรวจสอบคือ - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันในหลังเดียวกันไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2555 - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันเกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2553
- อาคารโรงงานที่สูงกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- ป้าย สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้ง บนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป
- สถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
ทั้งนี้อาคารทั้ง 9 ประเภท (เว้นแต่อาคารตามข้อ 6 ที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ) ต้องถูกตรวจสอบและส่งรายงานการตรวจสอบก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2550 สำหรับกรณีพื้นที่นอกเขตควบคุมอาคาร (พื้นที่ที่ยังไม่มีการประกาศพระราชกษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือพื้นที่นอกเขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง) อาคารที่ต้องทำการตรวจสอบมี 4 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และโรงมหรสพ
ประเภทของการตรวจสอบอาคาร
การตรวจสอบใหญ่ กระทำทุก 5 ปี กำหนดให้การตรวจสอบครั้งแรก เป็นการตรวจสอบใหญ่ และกระทำทุก 5 ปี
การตรวจสอบประจำปี ซึ่งเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารโดยผู้ตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี มิให้ขาด
หน้าที่รับผิดชอบ ในการตรวจสอบอาคาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
1. หน้าที่ของผู้ตรวจสอบอาคาร
2. หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หรือ ผู้จัดการ นิติบุคคล
3. หน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นหน้าที่ของ
ผู้ตรวจสอบอาคาร
- ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร และ อุปกรณ์ประกอบ ตามแผนบริหารจัดการ ของผู้ตรวจสอบ
-จัดทำรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคาร และ อุปกรณ์ประกอบ ให้แก่เจ้าของอาคาร
- หากพบว่ามีบางรายการ ไม่ผ่านเกณฑ์ ให้จัดทำข้อ เสนอแนะ และแนวทางการปรับปรุงแก้ไข แก่เจ้า ของอาคาร
หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หรือ ผู้จัดการนิติบุคคล
-จัดหา หรือ จัดทำแบบแปลนการตรวจสอบอาคาร และอุปกรณ์ ประกอบอาคารทุกรายการที่ต้องตรวจสอบ
- เสนอรายงานผลการตรวจสอบ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี โดยเสนอภายใน 30 วัน ก่อนใบรับรองการตรวจสอบฉบับเดิมครบกำหนด
- ให้แสดงใบรับรองการตรวจสอบอาคารติดไว้ในที่เปิดเผยที่เห็นได้ง่าย
-จัดให้มีการตรวจและทดสอบระบบโดยละเอียดตามแผนที่กำหนด
-จัดให้มีการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาตามช่วงเวลาที่กำหนด
-จัดให้มีการทดสอบสมรรถนะระบบความปลอดภัย การซ้อมหนีไฟ การบริหารจัดการความปลอดภัย และ อบรมพนักงาน
หน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
-เมื่อได้รับรายงานแล้ว ให้แจ้งเจ้าของอาคารทราบถึง ผลการพิจารณา ใน 30 วัน นับแต่วันได้รับรายงาน ผลการตรวจสอบ
-ในกรณีที่เห็นว่าอาคารดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในการใช้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ออกใบรับรองการตรวจอาคาร ให้แก่เจ้าของอาคาร โดยไม่ชักช้า โดยไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ
“เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า
- ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับในเขตกทม.
- นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
- ประธานกรรมการบริหาร ( นายก ) องค์การบริหารส่วนตำบลสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
- นายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
- ผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด สำหรับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
รายการที่ตรวจสอบอาคาร การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบอาคารต้องมีอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ดังนี้
1.1 การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
1.2 การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
1.3 การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
1.4 การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
1.5 การชำรุดสึกหรอของอาคาร
1.6 การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
1.7 การทรุดตัวของฐานรากอาคาร
2) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคาร
2.1 ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
2.2 ระบบลิฟท์
2.3 ระบบบันไดเลื่อน
2.4 ระบบไฟฟ้า
2.5 ระบบปรับอากาศ
2.6 ระบบสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม
2.7 ระบบประปา
2.8 ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
2.9 ระบบระบายน้ำฝน
2.10 ระบบจัดการมูลฝอย
2.11 ระบบระบายอากาศ
2.12 ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
2.13 ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
2.14 บันไดหนีไฟและ ทางหนีไฟ
2.15 เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
2.16 ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน
2.17 ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
2.18 ระบบลิฟท์ดับเพลิง
2.19 ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงใหม้
2.20 ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
2.21ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
2.22 ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
2.23 ระบบป้องกันฟ้าผ่า
3) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร
3.1 สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
3.2 สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออก ฉุกเฉิน
3.3 สมรรถนะระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงใหม้
4) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร
4.1 แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
4.2 แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
4.4 แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
4.5 แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร
บทลงโทษ
บทลงโทษตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ 2522 มาตรา 65 ทวิ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ทวิ ( การส่งรายงานตรวจสอบอาคาร ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง อีกทั้งมีผลกระทบด้านอื่น เช่น ในกรณีที่ต้องใช้ใบรับรองอาคาร ประกอบในเอกสารขออนุญาตอื่น เช่น ใบประกอบการโรงงาน ใบประกอบการโรงแรม เป็นต้น
สรุป การตรวจสอบอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและกฎกระทรวง เป็นการตรวจสอบอาคารโดยเน้นที่ ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัยในการใช้อาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบของอาคารเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ตรวจสอบอาคาร จะต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ และจรรยาบรรณ